โลโก้เว็บไซต์ ทีมงาน STEM มทร.ล้านนา ร่วมกับ วิทยาลัยเกษตรฯ ลำพูน จัดห้องเรียนเสริมทักษะ  Active Learning Classroom (ALC) | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย

ทีมงาน STEM มทร.ล้านนา ร่วมกับ วิทยาลัยเกษตรฯ ลำพูน จัดห้องเรียนเสริมทักษะ  Active Learning Classroom (ALC)

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 20 ธันวาคม 2562 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 4422 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน พร้อมด้วยอาจารย์ฉัตรชัย เลาวกุล และอาจารย์วิสูตร อาสนวิจิตร ในนามทีมงาน STEM มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา  ได้รับเชิญให้จัดการบรรยายและสาธิตกระบวนการเรียนการสอนแบบ STEM ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ปรับพื้นฐานการเรียนรู้แบบ PjBL โดยกระบวนการ FILA และบูรณาการ STEM Education ระหว่างวันที่ 16 – 17 ธันวาคม 2562 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ต.สบเส้า อ.แม่ทา จ.ลำพูน ซึ่งการเข้าร่วมเป็นวิทยากรในโครงการดังกล่าวเป็นการขยายผลในการพัฒนาการจัดการเรียน-การสอนของครูและนักเรียนในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระหว่าง มทร.ล้านนา กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) โดยได้มีการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านภาระกิจต่างๆ จากโจทย์จำลองทางด้านการเกษตรที่ได้นำความรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาบูรณาการในการแก้ไขปัญหา และยังส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำงานกันเป็นทีม

       สำหรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM Education ) คือแนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหา ในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 โดยบูรณาการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง และการประกอบอาชีพในอนาคต   ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือโครงงานที่มุ่งแก้ปัญหาที่พบเห็นในชีวิตจริง เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ผู้เรียนที่มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมหรือโครงงานสะเต็มจะมีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติงานที่ต้องใช้องค์ความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในภาคการผลิต และการบริการที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม การพลังงาน การจัดการสิ่งแวดล้อม การบริการสุขภาพ ลอจิสติกส์
          อนึ่ง การทำกิจกรรมหรือโครงงานสะเต็มไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี แต่สามารถนำความรู้ในวิชาอื่น เช่น ศิลปะ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สุขศึกษา พลศึกษา มาบูรณาการได้อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมของทีมงาน STEM RMUTL ได้ที่ https://www.facebook.com/STEMRMUTL/ 

 

ที่มา: เอกสาร สะเต็มศึกษา สสวท. /ภาพถ่าย : ทีมงาน STEM RMUTL 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา