เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 19 พฤษภาคม 2568 โดย วัชรพันธ์ ศิริ จำนวนผู้เข้าชม 29 คน
วันที่ 17 พฤษภาคม 2568 ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ พระโพธิสัตว์กวนอิม วัดห้วยปลากั้ง จังหวัดเชียงราย นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดชุมชนวัดห้วยปลากั้ง 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” โดยมีพระไพศาลประชาทร วิ. (พบโชค ติสฺสวํโส) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสินีนาฏ ทองสุข ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย นางรพีพร ทองดี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนวัดห้วยปลากั้ง นายโชติ ศิริดารายน นายกสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย วัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ ชาวชุมชนวัดห้วยปลากั้ง และสื่อมวลชน เข้าร่วมอย่างคับคั่ง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย โดย ดร.ถาวร อินทโร ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และ ดร.ณัฐรกานต์ คำใจวุฒิ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ เข้าร่วมพิธี เปิด
กิจกรรมภายในงานมีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ อาทิ การทอผ้าของชาวลาหู่ การเต้นจะคึ (ปอยเตเว) การละเล่นสะบ้า งานจักสานไม้ไผ่ การทำไม้กวาดของชาวไทลื้อ รวมถึงการแสดงดนตรีพื้นเมืองและการจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น อาหารชาติพันธุ์ เช่น ลาหู่ อาข่า ไทลื้อ ที่นักท่องเที่ยวสามารถลิ้มรสได้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้งนักท่องเที่ยวยังสามารถนั่งรถรางเที่ยวชมชุมชน เยี่ยมชมพบโชคธรรมเจดีย์ (เจดีย์ 9 ชั้น) และโบสถ์สีขาวลวดลายปูนปั้นสวยงาม พร้อมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งงานฝีมือ เครื่องจักสาน ผ้าทอ ผ้าปัก และอาหารพื้นบ้านราคาย่อมเยา
ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ชุมชนวัดห้วยปลากั้งถือเป็นต้นแบบของการใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ โดยผ่านการคัดเลือกจาก 76 ชุมชนทั่วประเทศ สู่ 10 สุดยอดชุมชนที่มีศักยภาพรอบด้าน ทั้งด้านวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และพหุวัฒนธรรม
“ชุมชนวัดห้วยปลากั้งตั้งอยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งกลุ่มคนไทยพื้นเมือง ลาหู่ ไทลื้อ อาข่า และละว้า (ลั้วะ) อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ต้อนรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้ได้มีที่พักพิงอย่างอบอุ่น การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายนี้ ได้หล่อหลอมให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง” ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน สามารถสักการะเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ สูง 69 เมตร ชมวิวเมืองเชียงรายแบบพาโนรามา 360 องศา และเยี่ยมชมพบโชคธรรมเจดีย์ พร้อมกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมหลากหลาย เช่น การแสดงจากกลุ่มผู้สูงอายุ การสาธิตงานฝีมือ การละเล่นพื้นบ้าน รวมถึงการเลือกซื้อของที่ระลึกจากฝีมือชาวบ้าน เช่น ผ้าทอ ผ้าปัก เครื่องจักสาน และไม้กวาดดอกหญ้า ทั้งยังมีอาหารท้องถิ่นรสชาติอร่อยจำหน่ายในราคาย่อมเยา เช่น น้ำเงี้ยว ข้าวแรมฟืน และเครื่องดื่มพื้นเมือง
“เที่ยวชุมชนวัดห้วยปลากั้ง ยลวิถีพหุวัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนา” ไม่เพียงเป็นคำขวัญ แต่ยังสะท้อนจิตวิญญาณของชุมชนที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยความอบอุ่น งดงาม และหลากหลายทางวัฒนธรรม
ภาพ : ข่าว : ดร.ณัฐรกานต์ คำใจ'วุฒิ
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา